“เรียกขาน สติ ด้วย
ณ ห้องกั้นสีขาวสุดมุมโถงกิจกรรมใหญ่ ภายในงานมหกรรมพบเพื่อนใจ ‘Soul Connect Fest 2025’ ผู้คนหลากหลายวัย ทั้งวัยรุ่น กลางคน และวัยเก๋า นั่งล้อมวงคล้ายเข้าที่เตรียมพร้อมเรียนรู้การภาวนาที่มาในรูปแบบ ‘การตั้งวงน้ำชา’ โดย พระอาจารย์โชติก อภิชาโต ครูสอนภาวนาของพวกเราในครั้งนี้
“แว้บแรกที่เราได้ยินคำว่า ‘น้ำชาภาวนา’ พวกเรานึกถึงอะไรกันบ้าง ?’
พระอาจารย์โชติก ยิงคำถามสำรวจความเข้าใจในเนื้อหา หลายคนในห้องยังคงเหมอมองกัน ส่งสายตาหวั่นไหวคล้ายอยากจะให้ในห้องมีเจ้าหนูจำไมช่างถามช่างตอบเกิดขึ้นมาสักคน ชั่วอึดใจ คำตอบก็ค่อย ๆ พรั่งพรูหลั่งไหลออกมา
“ ความสงบค่ะ..”
“พิธีชงชาค่ะ..”
“ความแปลกใหม่ครับ..”
หลังได้คำตอบ พระอาจารย์ก็พาพวกเราเดินทางสำรวจความมีชื่อเสียงของชาในไทย ท่านค่อย ๆ ฉายภาพบริบทความนิยมของวงการน้ำชาที่รุ่งเรืองเติบโตมาเนิ่นนานในหลายชาติหลากวัฒนธรรม ก่อนนำสู่เรื่องราวการประยุกต์น้ำชาและการภาวนาเข้าสู่ร่วมกัน
#วงน้ำชา_พาพัฒนาสามสอ
พระอาจารย์ขีดเส้นเป้าหมายของบทเรียนในวงน้ำชาวันนี้ แม้พวกเราจะมีเวลาสั้น ๆ เพียง 2 ชั่วโมง ( เป็นฉบับที่ปรับจากห้องเรียนเต็มวัน ) ว่าจะชวนให้พวกเราพัฒนาตนไปด้วยกัน 3 เรื่อง หรือ ท่านขอเรียกสั้น ๆ ว่า “ 3 ส.” นั่นคือ สติ สัมปชัญญะ และสมาธิ พระอาจารย์ย้ำให้พวกเราเข้าใจด้วยหลักง่าย ๆ ว่า ภายในห้องเรียนนี้พวกเราจะใช้ ‘การชงชา’ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา 3 ส.ดังที่กล่าวมา
#แบ่งปันความเข้าใจ
พระอาจารย์พาพวกเราเดินทางต่อด้วยการสำรวจและแบ่งปันความหมายของ ส. ต่าง ๆ ในความเข้าใจของแต่ละคน “หนูคิดว่าคือการตื่นรู้บางอย่างค่ะ..”
“ คือความรู้สึกตัวครับ..”
“ผมว่าคือการระลึกรู้ครับ รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่..”
เมื่อได้ฟังคำตอบพระอาจารย์ก็เฉลยทันทีว่าใช่ โดยความหมาย “สติ” แปลว่า “การระลึกรู้” ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินเสียง ดมกลิ่น สัมผัส.. การที่เราระลึกรู้สิ่งเหล่านั้นได้คือการมีสติ คำถามต่อมาคือ ในบางการรับรู้ เช่น อารมณ์โกรธ เบื่อ เศร้า ฯลฯ เหตุใดเมื่อเราบอกว่าเรามีสติแล้ว อารมณ์เหล่านั้นยังไม่หายไป
พระอาจารย์จึงชวนมาทำความเข้าใจกับคำว่า “สัมปชัญญะ” ว่าหมายถึงสิ่งใด เช่นเคยท่านเริ่มต้นจากการสำรวจความเข้าใจ..
“ผมว่าคือการจัดการสติให้เกิดไปอย่างต่อเนื่องครับ..”
“หนูคิดว่ามันคือคำสร้อยกันค่ะ (หัวเราะ)..”
“เหมือนสติเป็นความรู้สึกไปทีละขณะ แต่สัมปชัญญะเป็นความรู้สึกรวม ๆ แบบรู้ตัวทั่วพร้อมค่ะ..”
“หนูไม่รู้นะคะ แต่ขอเดาว่า เมื่อสติเป็นการรับรู้ สัมปชัญญะน่าจะเป็นการจัดการกับสิ่งที่เรารับรู้หรือเปล่าคะ..”
พระอาจารย์ยิ้มรับและตอบกลับต่อคำตอบสุดท้ายว่า ‘ใช่แล้ว เป็นการเดาอย่างมีพื้นฐานนะ เป็นอย่างที่โยมว่า สัมปชัญญะ นั้นเปรียบเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นในเสี้ยวขณะที่เรารับรู้’ ท่านอธิบายต่อถึงปัญญา 3 ระดับ คือ สุตมยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการฟัง การเล่าเรียน หรือการอ่านมา, จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด และภาวนามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการลงมือทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองโดยตรง ในข้อสามนี้เองที่พวกเราทั้งหมดในห้องนี้กำลังจะได้ฝึกฝนไปพร้อมกัน โดยพระอาจารย์ได้พาทำกิจกรรมง่าย ๆ ด้วยการยกมือตามสัญญาณระฆังเพื่อให้ทุกคนในห้องได้ทำความเข้าใจและแยกแยะคำว่า สติ และ สัมปชัญญะ ได้อย่างชัดเจน
ต่อมาคือ ส.ที่ 3 “สมาธิ” ทุกคนในห้องต่างเข้าใจความหมายของคำนี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ‘การอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง’ พระอาจารย์เสริมว่าการทำสมาธินั้นถือเป็นเรื่องง่ายหากเราเข้าใจหลัก ทว่าคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามจุดสำคัญไป ด้วยการเพ่งจ้องอย่างตั้งใจ ทำให้เกิดความเครียด ความรู้สึกหนัก ไม่ผ่อนคลาย หากมีอาการเช่นนี้เริ่มเป็นสัญญาณว่าเรากำลังทำสมาธิอย่างไม่ถูกต้อง
แล้วการทำสมาธิที่ถูกนั้นมีอาการเป็นอย่างไร ?
พระอาจารย์ฉายภาพคุณสมบัติง่าย ๆ อันตรงข้ามกับที่กล่าวมา คือ ความผ่อนคลาย เบาสบาย ไม่เคร่งเครียด ดังที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายว่าไว้ หากทำได้ถูกต้อง สมาธิคือกระบวนการเติมพลังงานดีดีนี่เอง
เมื่อทำความเข้าใจ 3ส.ดังกล่าวจากการแบ่งปันบอกเล่าแล้ว พระอาจารย์ก็เริ่มกระบวนการชงชา และส่งชาให้ทุกคนในวงได้ผลัดกันรินชาและดื่ม ระหว่างนั้นพระอาจารย์ก็ย้ำบอกให้พวกเราหมั่นสังเกตความคิด ความรู้สึก ที่มาเยี่ยมเยียนเรา ณ ขณะที่เราต่างรินและดื่มชา.. และค่อย ๆ พัฒนากำลังของ 3ส. สติ สัมปชัญญะ และสมาธิ
บรรยากาศการล้อมวงดื่มน้ำชาเป็นไปอย่างสงบเงียบ เรียกได้ว่าวงของเราสามารถเปล่งเสียงเงียบได้ดังที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเสียงกิจกรรมอื่น ๆ ในห้องโถงใหญ่เดียวกัน ผู้คนหลากหลายวัย ทั้งวัยรุ่น กลางคน และวัยเก๋า ค่อย ๆ ยกถ้วยชาขึ้นช้า ๆ ค่อย ๆ กลืนน้ำชาเข้าไปในร่างกาย เพียงชั่วอึดใจเดียว จากชาร้อน ค่อย ๆ อุ่น จากชาอุ่น ค่อย ๆ เย็นลงตามลำดับ.. เช่นเดียวกับจังหวะการเคลื่อนร่างกายของผู้คนภายในวงจากว่องไวรวดเร็ว ค่อย ๆ ชะลอช้า ทว่าก็ค่อย ๆ ชัดเจนในความรู้สึกตัว
#คิดค่าน้ำชา_พาแบ่งปันความรู้สึก
“ขณะละสายตาจากเยือกหนึ่งไปอีกเยือกเห็นว่าสมาธินั้นหายไปบ้างเป็นจังหวะ..”
“ขณะพระอาจารย์เทน้ำร้อน เห็นใจที่กำลังลุ้นว่าน้ำมันร้อนไปไหมน้อ..”
“ขณะพระอาจารย์เติมน้ำแล้วสีชาเริ่มออก.. ผมคิดไปว่ามันเหมือนตัวเราที่ไปสัมผัสกับสิ่งภายนอก แล้วใจเราเปลี่ยนตาม..”
“ปกติชอบทานชามากครับ แต่ไม่เคยสังเกตขั้นตอนการชงแบบนี้ ครั้งนี้ได้เห็นความละเอียดในขั้นตอน..”
“ขณะรีบส่งกาน้ำชา ทำให้รู้สึกถึงความเร่งรีบของเราในชีวิตประจำวัน.. หากช้าลงคงจะดี”
“รอบแรก ๆ ที่ส่งชา เรายังไม่ค่อยเห็นคนอื่น เราโฟกัสแต่ตัวเอง แต่พอรอบสองรอบสาม เราเริ่มเห็นคนอื่น ๆ เห็นมากไปกว่าความรู้สึกของเราเอง”
“ปกติดื่มชาเราไม่ได้สังเกต วันนี้พอสังเกตดีดี รู้สึกเราเห็นถึง 3ส.ในทุกขั้นตอนเลย ทั้งขณะเรายกถ้วยขึ้นดื่ม ขณะน้ำชาไหลผ่านเข้าไปในท้อง ขณะที่เราส่งต่อกาน้ำชา..”
ฯลฯ
หลังจบพิธีชงชา ทุกคนได้ร่วมวงสะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้น บางคนเล่าถึงความรู้สึกในใจ บางคนเล่าสะท้อนเทียบไปถึง 3ส.อย่างลึกซึ้ง.. ทว่าด้วยระยะเวลาอันจำกัด พระอาจารย์จึงพาพวกเราเข้าสู่ใจความสั้น ๆ นั้นคือการชวนกันพัฒนาสติ สัมปชัญญะ และสมาธิ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นการชงชาหรือไม่ เราทุกคนต่างสามารถพัฒนาสามสิ่งนี้ได้ด้วยการกลับมารู้สึกตัวไปทีละขณะ คอยสังเกตความคิดความรู้สึก ไม่ปล่อยใจไหลไปตามอารมณ์หรือสิ่งกระทบใดใดจนเร็วเกินไป พยายามปรับรูปแบบของการภาวนาให้เชื่อมประสานในทุกกิจกรรมในชีวิต แล้วในวันหนึ่งมันจะกลายเป็นมิตรแท้ที่คอยเคียงข้างเราทั้งในวันที่สุขหรือแสนเศร้าก็ตาม









