ปลดทุกข์จากใจ

นิทรรศการนี้ชื่อว่า #สติSpace 

Space สเปซเป็นภาษาอังกฤษแปลว่า พื้นที่ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะได้กลับมามีสติ มีความรู้สึกตัวเขาตั้งใจจะทดลองเพื่อที่จะเอานิทรรศการนี้ไปจัดตามสำนักงานต่างๆ ให้สำนักงานไม่ใช่เป็นที่ ที่คนจะเอาแต่ทำงาน แต่ให้กลับมามีสติ หรือมาทำงานภายใน ไม่ใช่ทำงานแต่ภายนอก งานนี้จัดที่หอศิลป์ กทม เท่าที่รับทราบมา ก็จะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ชวนให้คนกลับมาดูใจของตัว กลับมาสังเกตความรู้สึกของตัว เช่น มีข้อความเป็นตัวหนังสือตัวโตๆ ว่า เหนื่อยไหม รู้สึกอย่างไร แล้วก็มีบางข้อความบอกว่า เวลาเธอรู้สึกท้อ เหนื่อย เธอเห็นอะไรบ้าง ก็เป็นคำถามที่ชวนให้คนที่มาชมนิทรรศการ กลับมาดูใจของตัว เพราะบางคนไม่เคยสังเกตความรู้สึกของตัวเลย ทำงานเหนื่อย ชีวิตรุ่มร้อน จิตใจก็รุ่มร้อนไปด้วย แต่ไม่เคยรับรู้ หรือสังเกตความรู้สึกเหล่านี้เลย แต่ก็ถูกความทุกข์มันเผาลน ขับเคลื่อน ผลักดัน ให้วิ่งไล่ตามความสุข หรือว่าวิ่งไล่ตามผู้คน ทั้งที่เหนื่อยแล้วก็เหนื่อยอีก 

นอกจากพื้นที่ที่ชวนให้คนกลับมาดูใจของตัวแล้ว ก็จะมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่ง เป็นการให้กำลังใจ กำลังใจด้วยข้อความทำนองว่า อยู่ข้างเธอเสมอนะ หรือว่าขอให้รับรู้ถึงความรักที่ฉันมีให้เธอ หรือข้อความทำนองว่า รู้อยู่ว่าเธอพยายามอยู่เสมอ มีบางคนพอเห็นข้อความทำนองนี้แล้ว บางทีถึงกับน้ำตารื้นเลยนะ เพราะว่าเหนื่อย ท้อ แต่พอมีข้อความให้กำลังใจก็รู้สึกดีขึ้น ซาบซึ้ง ความรู้สึกอัดอั้น พอเจอข้อความทำนองนี้สะกิดก็ทำให้ร้องไห้ขึ้นมาได้นั้นดูจากคลิปที่คนดูบางคนเขาเล่าความรู้สึกให้ฟังว่า ช่วยเยียวยาใจได้ ก็น่าสนใจ ทั้งที่ไม่มีคนมาคุยกับเขา แต่เพียงแค่เห็นข้อความบางข้อความ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ซาบซึ้งประทับใจ มีกำลังใจได้ ที่น่าสนใจ มีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งให้คนเขียนความรู้สึก ซึ่งก็สำคัญเพราะว่าการที่คนเราได้เขียนความรู้สึกออกมา มันเป็นการช่วยระบายได้อย่างหนึ่ง เวลาเห็นความรู้สึกท้อ ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกคับแค้น จริงๆ เพียงแค่เห็นมันก็ช่วยได้เยอะ หรือว่าพอมีข้อความให้กำลังใจ ก็จะรู้สึกดีขึ้น รู้สึกอบอุ่นใจ 

แต่มันจะช่วยได้มาก ถ้าเกิดว่าได้เขียน เพราะมันเป็นการช่วยให้ใคร่ครวญความรู้สึก เพราะคนเราการที่จะเปลี่ยนความรู้สึกให้กลายเป็นตัวอักษร เปลี่ยนจากความคิดเป็นความอ่าน ก็ต้องผ่านกระบวนการไตร่ตรองระดับหนึ่งแล้ว พอได้เขียนมันก็เหมือนกับได้ระบาย ใกล้ๆ ตรงที่ได้เขียนระบายความรู้สึก ก็จะมีโถส้วม เขียนเสร็จก็เอากระดาษฉีกนั้น ขยำทิ้งลงไปในโถส้วมเลย ปรากฏว่าโถส้วมนั้นก็มีคนทิ้งกระดาษ ทิ้งขยะนี่เยอะมาก แน่นอนนะกระดาษเหล่านั้นก็ล้วนเป็นข้อความที่รองรับความรู้สึกของผู้คน ซึ่งก็เชื่อว่าคงจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกของคนที่เขียนได้ไม่น้อย 

มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 5 ขวบได้ อนุบาล 3 ชื่อน้องอัพมากับแม่ ไม่รู้ตั้งใจมาหรือเปล่า เพราะว่าแถวนั้นก็มีศูนย์การค้าเยอะ บางทีคุณแม่ก็พาลูกมาเที่ยวศูนย์การค้า แล้วก็แวะเข้าไปดูหอศิลป์ น้องอัพมาด้วยความทุกข์ โกรธ ถามว่าโกรธอะไร โกรธปลา ปลานี่คือปลาจริงๆ ไม่ใช่คนชื่อปลา ทำไมถึงโกรธปลา เพราะว่าที่บ้านเลี้ยงปลา ซึ่งน้องอัพซื้อปลามาไม่รู้กี่ตัวแล้ว ปรากฏว่า ปลาที่ซื้อมาใหม่มันกินปลาเดิมจนหมดเลย 

น้องอัพเลยโกรธมาก ผู้จัดเลยให้น้องอัพเขียนข้อความความรู้สึกที่โกรธปลา น้องก็เขียนใส่กระดาษ แล้วก็ขยำลงในโถส้วม น้องอัพก็มาบอกว่าตอนนี้หายโกรธปลาแล้ว โกรธปลามาไม่รู้เป็นวันๆ หรือเปล่า แต่พอได้เขียนความรู้สึกตามภาษาเด็ก หมายความว่าเขียนผิดๆ ถูกๆ บ้าง เพราะว่าเพิ่งเรียนอนุบาลสาม พอเขียนแล้วก็โยนกระดาษลงไปในโถส้วม มันรู้สึกดีขึ้นเหมือนกับว่าได้ปล่อยได้วางความโกรธ

คนเราเวลากินของกินน้ำ เช่น นมกล่อง หรือน้ำเปล่า พอกินเสร็จ กล่องเปล่า หรือขวดเปล่า ส่วนใหญ่ก็อยากจะทิ้งเลย เราจะทิ้งทันที บางคนก็ทิ้งลงข้างทาง ทิ้งลงถนน ไม่อยากจะถือเอาไว้เลยสิ่งที่เป็นขยะในมือ แต่แปลก ขยะในใจ ใจมันถือ ยึดเหนียวแน่นมาก อาจจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความวิตก ความรู้สึกผิด หรือความเศร้า 

กายเราฉลาดมาก เวลามือถือขยะอะไร มันไม่ได้ถือนานเลย แม้จะเป็นถุงพลาสติก หรือเศษ กระดาษ ถ้าทิ้งได้ ทิ้งเลย แต่ว่าใจของเรา สิ่งที่เป็นอารมณ์ขยะ กลับหวงกลับแหน ไม่ยอมทิ้งง่ายๆ แต่ถ้าเกิดว่ามันมีตัวช่วย ก็ทำให้เราสามารถจะทิ้งอารมณ์ที่เป็นขยะออกไปจากใจได้ ห้องปลดทุกข์ที่หอศิลป์ กทม ก็เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งให้คนหลายคนได้ปลดปล่อยความทุกข์ก็คืออารมณ์อกุศล ออกไปจากใจ 

บางทีมันก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไร ขอเพียงแต่ว่า 
1) คนเรารับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น  
2) ระบายถ่ายเทออกมาด้วยข้อเขียนหรือคำพูด และ 3) มีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ได้จัดการกับสิ่งเหล่านั้นแม้มันจะเป็นแค่สัญลักษณ์

มีคุณยายคนหนึ่ง เล่าว่าตอนสาวๆ แต่งงานใหม่ๆ ทำอาหาร ทำครัวให้สามี แล้วก็แม่ของสามี เมนูโปรดอย่างหนึ่งของที่บ้านก็คือปูต้มปูนึ่ง แล้วคุณยายท่านนี้ตอนที่ยังสาวก็ทำหน้าที่ ต้องจัดการกับปูเหล่านี้ เอาปูเป็นๆ มาแล้วก็มาต้มในน้ำร้อนเดือดๆ ตอนนั้นก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอทำไปนานๆ บ่อยๆ มันก็รู้สึกผิดที่ไปทำให้ปูมันตาย ตายทั้งเป็นด้วย ก็มีความทุกข์ มีความรู้สึกผิดที่ฆ่าปูจำนวนไม่น้อย ยิ่งตอนหลังมาสนใจพุทธศาสนา ยิ่งรู้สึกแย่ที่ตัวเองทำร้ายปูถึงตายขนาดนั้น ความรู้สึกผิดก็บีบคั้นจิตใจมานานทีเดียว ก็พยายามที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง ทำทุกวิธี อุทิศส่วนกุศลให้กับปู ทำบุญถวายสังฆทาน อุทิศบุญกุศลให้ กรวดน้ำให้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยมากเท่าไหร่ แล้วแกก็กลัวนะว่า พอถึงเวลาตายคือจิตสุดท้าย หรือจิตใกล้สุดท้ายไปนึกถึงปูเหล่านั้น เกิดความรู้สึกเศร้าหมองคงจะตายไม่ดีแน่ เพราะว่าจิตสุดท้าย ถ้าเป็นอกุศลมันก็พาไปอบายได้ ก็เลยมาปรึกษา อาตมาก็เลยให้ทำพิธีบิณฑบาต ซึ่งตอนนั้นอยู่ในการอบรมหลายคน ก็ให้แต่ละคนเขียนถึงความรู้สึก คือการกระทำ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่รู้สึกผิดอาจจะรวมถึงความโกรธแค้น ความพยาบาท ความรู้สึกอะไรที่มันรบกวนจิตใจ โดยเฉพาะที่เป็นความรู้สึกที่ยากจะปลดเปลื้องไปจากใจ เขียนใส่กระดาษ

คุณยายท่านนี้เขียนความรู้สึกผิดที่ไปฆ่าปู เขียนใส่กระดาษแล้วก็มาใส่บาตร เพราะนี่คือเป็นวิธีบิณฑบาต ขอบิณฑบาต แต่ละคนก็เขียนกันมาคนละแผ่นสองแผ่นเอามาใส่บาตร เสร็จแล้วอาตมาก็ทำพิธีเผา เผาแล้วก็สวดมนต์ไปด้วย คุณยายก็มาบอกเล่าว่า มันช่วยได้เยอะเลยนะ ความรู้สึกผิดที่มันติดค้างใจมาหลายสิบปี มันทุเลาเบาบางไปเยอะ ถึงตอนนี้เวลาฝันก็ไม่ได้ฝันถึงปู ปลดเปลื้องไปได้ เพราะเหมือนกับว่าได้ชำระล้างมันออกไปจากใจ 

อันนี้ก็คล้ายกับน้องอัพ น้องอัพพอเขียนความรู้สึกที่โกรธปลาลงใส่กระดาษ แล้วก็โยนไปในโถชักโครก มันก็รู้สึกว่าเบาลงเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ คนเราเวลามีความทุกข์  ถ้าหากว่าเราจัดการกับมันดีๆ เราก็สามารถที่จะปลดเปลื้องจากใจได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากการที่ยอมรับนะ ยอมรับ รับรู้ ถึงความรู้สึกนั้น แล้วก็ระบายออกมา หรือแสดงมันออกมาด้วยคำพูดหรือข้อเขียนมันก็ช่วยถ่ายเทความรู้สึกนี้ออกไปได้ง่ายขึ้น 

บางทีมันไม่ใช่แค่คำพูดหรือข้อเขียน การกระทำบางอย่างก็ช่วยได้ ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสัก 20 กว่าปีก่อน มีแผ่นดินไหวหนักมาก ญี่ปุ่นนี่ก็เป็นดินแดนที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นประจำ แผ่นดินไหวที่โกเบคราวนั้นทำให้เกิดความเสียหาย คุณป้าคนหนึ่งสูญเสียหมดเลยนะ ทั้งบ้านทั้งทรัพย์สิน และที่สำคัญคือสามีและลูก แม้ว่าจะกลับมาตั้งตัวใหม่ได้ แต่ก็ยังเศร้าโศกเสียใจไม่หายที่สูญเสียคนรักและทรัพย์สิน ผ่านไปเป็นสิบปี ความเศร้าโศกเสียใจก็ยังมารบกวนจิตใจคุณป้าอยู่ แกก็รู้ว่ามันทุกข์ แต่ว่าไม่รู้จะคลี่คลายความทุกข์นี้อย่างไร

วันหนึ่งได้ข่าวว่าที่เกียวโต มีวัดอยู่บนเขาแล้ววัดนี้ก็มีหน้าผาอยู่ ที่วัดนี้จะมีพิธีสะเดาะเคราะห์ ถ้าเรียกแบบภาษาบ้านเราก็คือ สะเดาะเคราะห์ ใครที่มีเคราะห์เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือว่ามีอุปสรรคอะไรก็ตาม จะไปที่วัดนี้ วิธีสะเดาะเคราะห์คือ เขียนสิ่งที่อยากจะให้มันหายไปจากชีวิต เขียนใส่จาน เป็นจานดินเผา แล้วก็ไปโยนตรงหน้าผา บางคนก็เขียนถึงความเจ็บป่วย บางคนก็เขียนอุปสรรค ความล้มเหลวต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งแย่ๆ ที่อยากจะผลักมันออกไปจากชีวิต 

คุณป้าคนนี้ สิ่งที่แกเขียนในจานนั้นมีข้อความว่า 1) บ้าน  2) รถยนต์  3) ชื่อสามี  4) ชื่อลูก  ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความอาลัยอาวรณ์ให้กับคุณป้าคนนี้ แล้วแกก็ไปที่หน้าผานี่ ก่อนที่จะโยนจานแต่ละใบ  แกก็พูดขึ้นมา ตอนแรกพูดถึงบ้าน ขอบคุณบ้านที่ให้ฉันพักอาศัยมาอย่างอบอุ่น สะดวกสบาย ตอนนี้ได้เวลาที่เจ้าจะต้องออกไปจากชีวิตฉันแล้วแหละ แล้วก็โยนลงหน้าผา กับรถยนต์ก็ทำเหมือนกัน ทรัพย์สินที่สำคัญๆ ก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน 

พอมาถึงสามี ก็พูดว่าขอบคุณสามีที่ได้ร่วมชีวิตกันมา 30-40 ปี ตอนนี้ก็ได้เวลาที่คุณจะต้องไปจากฉันแล้วแหละ แล้วก็โยนจานที่เขียนชื่อสามีลงหน้าผา กับลูกก็เหมือนกัน บอกแม่รักลูกมาก แม่อยากอยู่กับลูกนานๆ แต่ตอนนี้ได้เวลาที่ลูกจะต้องไปแล้วแหละ พูดจบก็โยนจานที่เขียนชื่อลูกลงไป 

ปรากฏว่าหลังจากนั้นนะแกรู้สึกดีขึ้นเลย ก็เหมือนกับว่า ความทุกข์ ความโศกที่แบกไว้ในใจ เรียกว่าปลดเปลื้องออกไป นับจากเหตุการณ์นั้น มันไปพร้อมๆ กับจานที่เหวี่ยงลงไปในหน้าผา 

นี้ก็คล้ายๆ กับ 2 กรณีแรก คือว่าใจมันอยากจะปลดอยากจะเปลื้อง แต่ว่ามันไม่ยอมไปเสียที แต่พอมีพิธีกรรมบางอย่าง หรือมีกิจกรรมอะไรบางอย่าง ที่เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกเหล่านั้นออกไปจากใจ 

บางทีคนเราก็ต้องการสิ่งนี้ สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้ปลดเปลื้องความรู้สึกที่มันรบกวน หรือรังควาญจิตใจได้ อาจจะเป็นความโกรธ ความรู้สึกผิด หรือว่าความโศกเศร้า อาลัยอาวรณ์ แต่ทั้งหมดต้องอาศัยสติ และความรู้สึกตัวเป็นเบื้องต้น คือ ยอมรับ คือเห็นความรู้สึก และยอมรับความรู้สึกนั้นได้ 

แต่บางครั้งคนเราก็ไม่เคยยอมรับความรู้สึกนั้น เพราะสติยังไม่แข็งแรง การที่เขียนความรู้สึกนั้นใส่กระดาษ หรือ ทำอะไรบางอย่างที่เป็นพิธีกรรม มันก็ช่วยทำให้สามารถระบาย ถ่ายเท ความรู้สึกนั้นออกไปจากใจได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้ามีสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าปลดเปลื้องมันออกไปจากใจได้ หรือว่ากำจัดมันออกไปจากชีวิตได้ มันก็ยิ่งช่วยเข้าไปใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งกระดาษลงโถส้วม หรือว่าหย่อนกระดาษลงในบาตรก่อนที่จะเผา หรือว่าเขียนลงไปในจานก่อนที่จะโยนลงไปในเหว

คนเราต้องการตัวช่วย อันนี้พูดถึงคนทั่วไป แต่ว่าถ้าหากว่าเรามีสติดีนะ มันก็สามารถที่จะ ปลดเปลื้องความรู้สึกออกไปจากใจได้ง่ายขึ้น ถ้าเกิดว่าเรารับรู้ความรู้สึกด้วยอาการรู้ซื่อๆ เพราะ ส่วนใหญ่พอรู้แล้ว มันจะไม่รู้ซื่อๆ เท่าไหร่ จะพยายามกดข่มผลักไสความโกรธ หรือพยายามลืม เช่น ความรู้สึกผิด ความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ ก็อยากจะกดมันเอาไว้ เพราะมันมารบกวนจนนอนไม่หลับ แต่ยิ่งทำเช่นนั้น มันยิ่งมีกำลังเหนือจิตเหนือใจของเรามากขึ้น 

ปุถุชนคนทั่วไปต้องมีตัวช่วยที่จะทำให้มั่นใจ หรือทำให้รู้สึกว่าจบกันสักที ออกไปจากใจฉันสักที พิธีกรรมจึงมีส่วนสำคัญ แต่สำหรับคนสมัยใหม่ พิธีกรรมอาจจะไม่ค่อยสื่อเท่าไหร่ แทนที่จะเป็น บาตรเพื่อขอบิณฑบาตร สำหรับคนรุ่นใหม่ การโยนทิ้งโถส้วมนี้อาจจะให้ความรู้สึกที่ดีกว่าก็ได้

อันนี้ก็ให้เรารู้ไว้ว่า จริงๆ แล้ว เรามีวิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกได้ ถ้าเราเข้าใจ หรือว่ามีตัวช่วยที่จะทำให้เราสามารถจะปล่อยมันออกไปจากใจได้ แต่ถ้าเราฝึกสติ ฝึกความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เราก็ไม่ต้องรอให้อารมณ์มันท่วมท้นจนยากที่จะจัดการ เรามีสติไว เพียงแค่มันมีอารมณ์เกิดขึ้นเป็นประกาย หรือยังไม่โตเท่าไหร่ เราก็จะรู้ทัน แล้วก็วางมันลงได้ง่าย ส่วนใหญ่ไม่รู้ทัน ป

Follow Us On

Categories