cover ยาว

ฟังด้วยหัวใจ ฟังด้วยสติ

นอกจากการออกแบบพื้นที่ว่างให้เกิดเป็นนิทรรศการและกิจกรรมฮีลใจคนหลากหลายวัยแล้ว สติ Space ยังออกเดินทางจัดคอร์สชวนผู้คนจากหลากหลายองค์กรทั้ง สื่อมวลชน เอกชน วัด มหาลัย ฯลฯ ร่วมสำรวจพื้นที่ภายในใจ ค้นหาสาเหตุของปัญหาความสัมพันธ์ที่ปรากฏขึ้น ว่าเบื้องหลังนั้นเกิดจากสิ่งใด แล้วเราจะนำสติเข้าไปช่วยแก้ไข บรรเทา ผ่อนคลายปัญหาใจเหล่านั้นอย่างไรกันดี

ภายในห้องประชุมผนังสีขาวม่วงขนาดใหญ่ ณ  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม 20 ชีวิต เข้าร่วมคอร์สอบรมในหัวข้อสร้างทักษะการฟังและตอบสนอง หัวใจของอาจารย์ที่ปรึกษา”  ทีมวิทยากรของ สติ Space นำโดย พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปัญโญ) วัดญาณเวศกวัน และครูดล ธนวัชร์ เกตน์วิมุต ประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา และผู้ก่อตั้งธนาคารสติทั้งสองท่านได้พาคณะอาจารย์สำรวจพื้นที่ภายในใจตนเอง ชวนทุกท่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สติในการฟังและนำวงแบ่งปันปัญหาที่พบระหว่างทางเมื่อต้องรับฟังใจของเหล่านักศึกษาในความดูแล

เรามีศักยภาพนี้อยู่ใช่ไหมโยมอาจารย์ ? ประเภทฟังแต่ไม่รู้เรื่อง เราสามารถทำได้ แต่บ่อยครั้งที่เราอยู่ต่อหน้าผู้คน อยู่กับลูกศิษย์ อยู่กับคนที่เรารัก บางทีเราก็ใช้ทักษะนี้ คือ ทักษะการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ โยมอาจารย์ผู้ชายน่าจะทำบ่อย เวลาภรรยาเริ่มบ่น เราก็มาอยู่กับตัวเองมากขึ้น รับรู้คนอื่นน้อยลงเพราะถ้ารับรู้มากแล้วเดี๋ยวจะเกิดความขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นเราต่างมีทักษะนี้ เพียงแต่ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง

ในห้องเรียนนี้เรามาฝึกการฟัง เพื่อที่จะได้เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกศิษย์ เป็นที่ปรึกษาให้กับคนที่เรารัก ทักษะในการฟังเพื่อที่จะเข้าใจคนที่กำลังมีความทุกข์นั้นคือทักษะเดียวกับที่โยมอาจารย์ใช้ในการเรียนหนังสือ คือ หนึ่งต้องมีสติในการตั้งใจฟัง แต่เมื่อเราเรียนวิทยาศาสตร์มาก ๆ เราจะมีความเป็นเหตุเป็นผล ปัญญาเราจะมาก เราจะคิด ๆๆ คิดไปก่อน คนเล่ายังเล่าไม่ถึงแต่เราคิดไปก่อนแล้ว จะมีความตัดสินและไม่อยู่กับสิ่งที่เขาเล่าจริง ๆ เป็นความเก่งของเรานะ น่าชื่นชม คือเราเก่งคิด แต่ว่าเราอาจจะคิดไปล้ำกว่าผู้เล่าหรือผู้ที่สื่อสารกับเราอยู่ก็ได้ เราเลยไม่ได้ยินความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเรา เพราะเราไปอยู่กับความคิด..

ทักษะในการฟัง ที่เราจะไปฟังผู้อื่นอย่างเข้าใจนั้น เราไม่ได้ฟังแค่ประโยคที่เขาพูด แต่ฟังทั้งส่วนที่เป็นอวัจนภาษาด้วย ฟังพลังงานที่เขาส่งมาให้เรา ความรู้สึกของเขาคืออะไร เหล่านี้สามารถสื่อสารกับเราได้หมดเลยผ่านอายตนของเรา ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่สำคัญคือใจ.. ในขณะที่โยมอาจารย์กำลังฟังลูกศิษย์ที่มีปัญหาในการศึกษาหรือปัญหาในชีวิต เขาไม่ได้สื่อสารแค่เรื่องราวเท่านั้น แต่เขากำลังถ่ายทอดความรู้สึก พลังงานบางอย่างในใจเขา ทั้งดีและร้าย สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ เปิดโหมดของการรับรู้ทั้งหมดเพื่อรับสารที่เขากำลังถ่ายทอดซึ่งมีมากกว่าคำพูดพระครูธรรมรัตบรรยายนำเพื่อพาคณะอาจารย์ทำความเข้าใจในความหมายของการ ปิ รั ฟั

ตามด้วยการจัดกลุ่มเพื่อแบ่งปันปัญหาและร่วมกันเสนอวิธีรับมืออย่างมีสติ โดย ครูดล ธนวัชร์ เกตน์วิมุต ที่นำทักษะในการฟัง 4 รูปแบบ ได้แก่ ทักษะการฟังลึก, ทักษะถามคม, ทักษะการชมเป็น, ทักษะการสะท้อนชัด  เข้ามาเป็นตัวช่วยแก่อาจารย์ทุกท่านขณะดูแลใจของนักศึกษา

เมื่อนักศึกษาเข้ามาปรึกษาอาจารย์ บางทีเขาอาจไม่ได้บอกความรู้สึกแก่อาจารย์นะครับ แต่เมื่อเราใช้หัวใจเราเองคอยจับชื่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเขา เราจะสามารถรู้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร และก็สะท้อนออกมา ในขั้นนี้เรายังไม่ต้องนำเขาไปสู่การแก้ปัญหาก็ได้นะครับ เพราะมิติการแก้ปัญหาไม่ใช่วิธีการเดียว แม้การทำกิจยังไม่สำเร็จในการแก้ไขปัญหา แต่ในกระบวนการนี้เราทำจิตได้หลายจุด ถือว่าเราค่อย ๆ ทำให้สำเร็จในทีละจุด ๆ ไปเรื่อย ๆ ครับ

การเข้ามาขอคำปรึกษาอาจเกิดมากกว่าหนึ่งครั้ง การพบกันครั้งแรกอาจเป็นการผูกสัมพันธ์กันไว้ก่อน เมื่อเขามีปัญหาเพิ่มขึ้นน้องก็อาจระลึกถึงเราในเวลาต่อมา และวิธีการที่เราดีลกับเขา (ด้วยเครื่องมือ 4 แบบนี้) จะสังเกตว่าในวันหนึ่งเราจะรู้สึกเลยว่าเขาตอบตัวเองได้ เขาจะเกิดปัญญาขึ้นมา เช่น สมมติในครั้งต่อมาเขาโทรมาหาครูดล แล้วครูดลบอกไม่ว่างแล้วและสามารถคุยได้อาทิตย์หน้า เขาจะคิดเลยว่า แล้วถ้าครูดลได้ฟังเรา ครูดลจะตอบอะไรนะ.. เพราะด้วยวิธีที่เราดีลกับเขาจะทำให้จิตเขาบันทึกไปว่า ก็คงได้รับคำชม ได้รับคำถาม คงให้เราได้สะท้อนตัวเองนั่นแหละ.. ซึ่งจะทำให้เขาได้คิดและเกิดคำตอบด้วยตนเอง

นอกจากนี้ครูดลได้เน้นย้ำ วิธีการดูแลใจของตนเองขณะฟังแก่อาจารย์ทุกท่าน ด้วยในหลายครั้งที่ผู้ฟังมักกลายเป็นผู้ทุกข์ใจเสียเอง เพราะได้รับเอามวลความทุกข์ ความเครียด ความเศร้า ความคับแค้น ความโกรธเกลียด ฯลฯ นานาความรู้สึกมาแบกเอาไว้ในใจตนเอง อาการเช่นนี้เรียกว่าฟองน้ำคือ การฟังที่ซึมซับปัญหาเหล่านั้นเข้ามาไว้กับตัวเอง ขณะที่ครูดลได้ชี้แนวทางไว้ว่าเราควรรับฟังในแบบใบบัวคือ การรับฟังปัญหาเหล่านั้นและปล่อยผ่านไป ไม่ซึมซับเอาความรู้สึกหนักอึ้งในภาระปัญหาเหล่านั้นไว้กับตัวเอง ซึ่งจะทำให้ใจของผู้รับฟังยังคงปกติ แจ่มใส เบิกบานได้ไม่เศร้าหมอง

ในปี 2568 นี้ สติ Space ยังคงออกเดินทางจัดคอร์สชวนผู้คนจากหลากหลายองค์กรร่วมสำรวจพื้นที่ภายในใจ ค้นหาสาเหตุของปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาการทำงานในองค์กร ปัญหาความเครียดสะสม และอีกมากมาย เพื่อพาทุกท่านเรียนรู้วิธีการนำสติเข้าไปแก้ไข บรรเทา และคลี่คลายปัญหาเหล่านั้น

หากท่านมีความสนใจสามารถติดต่อสอบถามแนวทางการจัดคอร์สได้ที่เพจสติ Space”

หรือศึกษาแนวทางเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://satispace.org/suan-mokkh/home/

#สติSpace #พื้นที่ชวนรู้ตัวดูใจ #ฟังด้วยหัวใจ #ฟังด้วยสติ #สวนโมกข์กรุงเทพ